ปัญหาการจัดปริวาสกรรม ที่ไม่ถูกต้องตามพระวินัยพุทธบัญญัติ
ข้าพเจ้าได้เห็นพฤติกรรมการจัดปริวาสกรรม เพื่อระงับครุกาบัติที่ออกด้วยวุฏฐานวิธีสำหรับพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ที่ไม่ถูกต้องตามพระวินัยพุทธบัญญัติ คือเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า “การอยู่กรรม” หรือ “อยู่ปริวาสกรรม” นั้น ตามพระวินัยพุทธบัญญัติ เป็นกิจเฉพาะพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อออกจากครุกาบัตินี้ด้วยวุฏฐานวิธี คือการอยู่กรรม หรือ อยู่ปริวาสกรรมนี้ และ การต้องอาบัติสังฆาทิเสสทั้งหมด (ยกเว้นสิกขาบทที่ 5-6-7) เป็นสจิตตกะ คือต้องด้วยเจตนา กล่าวคือจงใจ
ดังตัวอย่างพระบัญญัติ พระอนุบัญญัติและพระปฐมบัญญัติ ที่แสดงไว้แล้วข้างต้น
สำหรับ 9 สิกขาบทแรกต้องอาบัติเมื่อแรกทำ 4 สิกขาบทหลังให้ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสครบ 3 จบ ผู้ต้องครุกาบัติดังกล่าวจึงเป็นผู้ต้องอยู่ปริวาสกรรม พระปกตัตตภิกษุ ผู้มีศีล หาต้องอยู่กรรมไม่ ดังปรากฏในบทสรุปว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมคือสังฆาทิเสส 13 สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว 9 สิกขาบทให้ต้องอาบัติเมื่อแรกทำ 4 สิกขาบทให้ต้องอาบัติเมื่อสวดสมนุภาสครบ 3 จบ ภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งแล้ว รู้อยู่ แต่ปกปิดไว้สิ้นวันเท่าใด ภิกษุนั้นต้องอยู่ปริวาสด้วยความไม่ปรารถนา สิ้นวันเท่านั้น ภิกษุอยู่ปริวาสแล้ว ต้องประพฤติวัตรเพื่อมานัต สำหรับภิกษุเพิ่มขึ้นอีก 6 ราตรี ภิกษุประพฤติมานัตแล้ว ภิกษุสงฆ์ 20 รูป อยู่ในสีมาใด พึงเรียกภิกษุนั้น ถ้าภิกษุสงฆ์ 20 รูปเข้าหมู่ในสีมานั้นหย่อนแม้รูปหนึ่ง พึงเรียกภิกษุนั้นเข้าหมู่ ภิกษุนั้นก็ไม่เป็นอันสงฆ์เรียกเข้าหมู่แล้ว และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ นี้เป็นสามีจิในกรรมนั้น”2
หลักพระธรรมพระวินัยมีอย่างนี้ แต่ปรากฏพฤติกรรมเป็นเจตนากรรมที่ไม่ถูกต้อง ของทั้งผู้จัดปริวาสกรรมบ้าง ของผู้ไปอยู่ปริวาสกรรมเองบ้าง ของผู้ชักนำเพื่อนสหธรรมิกให้ไปอยู่กรรมบ้าง และผู้ชักนำให้สาธุชนมาร่วมทำบุญและมาร่วมปฏิบัติธรรมบ้าง ซึ่งมีค่อนข้างจะมากรายที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นเรื่องปกติไป เสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องไปแล้วหลายประการ
ความที่ไม่ถูกต้องนั้น มีดังเช่น
มีการชักชวนพระภิกษุผู้บวชใหม่กันมากว่า ก่อนลาสิกขาควรต้องไปอยู่ปริวาสกรรมเพื่อให้เป็นผู้บริสุทธิ์ (โดยไม่คำนึงถึงว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่) บ้าง บางรายก็อ้างว่าเผื่อว่าตนเองจะเผลอต้องอาบัติสังฆาทิเสสโดยไม่รู้ตัวบ้าง ทั้งๆ ที่การต้องอาบัตินี้ทุกสิกขาบท (ยกเว้นสิกขาบทที่ 5-6-7) เป็นสจิตตกะ คือต้องโดยเจตนาหรือจงใจกระทำ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
ผู้จัดปริวาสกรรม มักมีเจตนาที่จะให้มีผู้มาร่วมกิจกรรมนี้มากๆ โดยขาดหลักการตามพระธรรมวินัย คือเพียงแต่ต้องการให้มีประชาชนมาร่วมทำบุญด้วยมากๆ โดยอ้างว่าประชาชนมีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมน้อย จึงควรมีเมตตาอนุเคราะห์ให้เขาได้มีโอกาสมาร่วมปฏิบัติธรรมด้วยมากๆ จึงพากันโฆษณาเพื่อให้ทั้งพระภิกษุมาอยู่ปริวาสกรรม ณ อาวาสนั้นมากๆ และทั้งให้ประชาชนมาร่วมปฏิบัติธรรมและมาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วยมากๆ
มีทั้งการติดตั้งป้ายบอกการจัดปริวาสกรรม และมีทั้งการโฆษณาให้ญาติโยมมาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วยมากๆ อ้างว่าการได้มาอยู่ปริวาสกรรมนั้นเป็นความบริสุทธิ์มากเป็นพิเศษ 1 การได้มาบำเพ็ญกุศลกับผู้อยู่ปริวาสกรรมนั้นจึงเป็นมหานิสงส์ คือได้บุญมากเป็นพิเศษ 1 โฆษณาเรื่องบุญกุศลนี้อย่างเลอเลิศ และอย่างโจ่งแจ้ง กว้างขวาง จึงมีผลให้
ก. มีพระภิกษุบางรูปทั้งที่ไม่ได้ต้องครุกาบัตินี้ก็พลอยหลงเชื่อไปตามเขา แทนที่จะเป็นความบริสุทธิ์ กลับไปได้การต้องอาบัติปาจิตตีย์เพิ่ม เพราะล่วงสิกขาบทที่ 1 พูดปด แห่งมุสาวาท-วรรคที่ 1 และแถมยังเป็นสีลัพพตปรามาส คือหลงถือศีลพรตโดยสักว่า ไปตามเขาด้วยความงมงายอีกด้วย ส่วนบางราย (พระภิกษุเก่า) ก็ไปเข้าปริวาสกรรมกับเขาได้ทุกปี ปีละหลายๆ แห่ง ที่เป็นพระผู้เฒ่าก็ยังเห็นมีไม่น้อย ไม่รู้ว่าต้องอาบัติอะไรกันหนักหนา ถ้าต้องครุกาบัติเป็นอาจิณเช่นนั้น แสดงว่าแทบจะไม่เคยมีความสังวรระวังในศีล อินทรีย์ และสติสัมปชัญญะเลย จนพระภิกษุบางรูปได้ชื่อว่า “นักล่าปริวาส” ก็มี
ข. คฤหัสถ์ชายบางคนหลงเชื่อว่า การอยู่ปริวาสกรรมนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมอันเป็นการขัดเกลา ให้ถึงความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง จึงพากันมาบวชเตรียมรออยู่ 1 วันบ้าง 2 วันบ้าง หรือแม้บวชในวันที่เขาจะมีพิธีเข้าปริวาสกรรมนั้นเองบ้าง ด้วยความตั้งใจที่จะมาอยู่ปริวาสกรรมกับเขา เพื่อทำตนให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่ตนเองยังมิได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั้นเลย และ/หรือยังไม่ได้เรียนรู้เลยว่าอาบัติสังฆาทิเสสนั้นคืออย่างไร ตนเองเป็นผู้ต้องครุกาบัตินี้ด้วยหรือไม่ ก็มาตามที่เขาโฆษณาว่า มาเข้าปริวาสกรรมแล้วจะเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ยิ่งกว่าการบรรพชาอุปสมบทตามปกติเสียอีก เมื่ออยู่กรรมกับเขาแล้ว ก็ลาสิกขาด้วยความกระหยิ่มใจว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ทั้งๆ ที่กลับพกเอาความหลงผิดเป็น สีลัพพตปรามาส คือ หลงถือศีลพรตด้วยความงมงายติดตัวไป
ค. แม้ชาย-หญิง อื่นก็หลงมาอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกับเขา โดยเข้าใจว่า นั้นก็เป็นการมาอยู่กรรม ซึ่งจะได้มีความบริสุทธิ์มากกว่าการปฏิบัติธรรมคือการรักษาศีลและเจริญภาวนาโดยธรรมดามากมายนัก จึงเป็นสีลัพพตปรามาสติดตัวเองไปกับเขาอีกด้วย
ง. ญาติโยมผู้มาทำบุญ ก็มาทำบุญด้วยความเข้าใจว่า มาทำบุญกับพระภิกษุ ผู้อยู่กรรมนี้จะได้ผลบุญมากมาย ยิ่งกว่าการทำบุญกับพระภิกษุผู้มีศีลเป็นปกติเสียอีก เพราะผู้อยู่กรรมเป็นผู้มีความขัดเกลาเพื่อความบริสุทธิ์มากที่สุด
ทั้งๆ ที่ผู้ที่จะต้องอยู่ปริวาสนั้น คือพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เท่านั้น และการอยู่ปริวาสกรรมนี้ก็เป็นเพียงวุฏฐานวิธีเพื่อให้พระภิกษุผู้ต้องครุกาบัติออกจากอาบัติได้ เป็นปกตัตตภิกษุ คือเป็นพระภิกษุผู้มีศีลโดยปกติ ตามพระวินัยเท่านั้น หาใช่ว่าผู้อยู่ปริวาสกรรมแล้วจะเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เลิศเลอกว่าปกตัตตภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้ทรงศีลทรงธรรมตามพระธรรมวินัยโดยปกติไม่ และแถมยังจะมีมลทินมัวหมอง คือ ความหลงผิด เป็นสีลัพพตปรามาส การถือศีลวัตรด้วยความงมงาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุผู้ที่มีได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจริงๆ แต่ไปขออยู่ปริวาสกรรมกับเขา และปฏิญาณตนต่อสงฆ์ว่า “อหํ ภนฺเต สมฺพหุลา สงฺฆาทิเสสา อาปตฺติโย อาปชฺชึ...” (ท่านผู้เจริญ กระผมต้องอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัว (หรือตัวเดียว) แล้ว...) ดังนี้ เป็นต้น ย่อมกลับต้องอาบัติปาจิตตีย์เพราะล่วงสิกขาบทที่ 1 เพราะพูดปด ตามมุสาวาทวรรคที่ 1 อีกด้วย
จ. การประกาศข่าวโจ่งแจ้งว่าที่อาวาสนี้มีการจัดปริวาสกรรม ให้อนุปสัมบันคือประชาชนทั่วไปทราบเช่นนี้ พระภิกษุผู้ทำการประกาศเองเช่นนั้นก็ดี หรือสั่งให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้นก็ดี ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์1 เพราะล่วงสิกขาบทที่ 9 บอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่นแก่อนุปสัมบัน ตามมุสาวาทวรรคที่ 1 นี้อีกด้วยเช่นกัน และยังเป็นอาบัติที่จัดเป็นอาจิณได้ เพราะต้องอาบัติตลอดเวลาที่มีการโฆษณาการอยู่ปริวาสกรรมเช่นนั้นให้อนุปสัมบันทราบ แม้จะปลงอาบัติกันทุกๆ วัน จะพ้นจากอาทีนพคือโทษจากอกุศลเจตนาที่ได้กระทำอยู่บ่อยๆ เช่นนั้นได้หรือ ?
ฉ. ยิ่งถ้าโฆษณาด้วยเจตนาเพียงเพื่อที่จะให้ผู้คนมาร่วมกิจกรรมและมาทำบุญด้วยมากๆ อีกว่า ผู้ได้มาอยู่กรรมแล้วจะได้ความบริสุทธิ์ยิ่งนัก ยิ่งกว่าการปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยโดยปกติเสียอีก เช่นนั้น ก็คงไม่พ้นการล่วงละเมิดสิกขาบทที่ 1 เพราะพูดปด ตามมุสาวาทวรรคที่ 1 นี้บ่อยๆ อันเป็นการเพิ่มความหลงเข้าใจผิดแก่ทั้งพระภิกษุ และแม้อนุปสัมบันผู้ยังมิได้เรียนรู้พระธรรมวินัยดีพอไม่น้อยเลย แล้วอย่างนี้ จะพ้นอาทีนพได้ละหรือ ? จะคุ้มกันหรือ กับลาภสักการะที่ได้มา ?
ช. ยังมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยอีกว่า มีการโฆษณาชักชวนพระภิกษุผู้มิได้เรียนรู้พระธรรมวินัยดีพอ ให้หลงเชื่อตามๆ กันว่า
“การอยู่ปริวาสกรรมนี้ เป็นหนึ่งในกิจวัตร 10 อย่าง ที่พระภิกษุพึงปฏิบัติเป็นประจำ (ทุกปี) ”
โดยมิได้อธิบายให้แจ้งชัดว่า ข้อนี้เป็นกิจวัตรเฉพาะพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น ทั้งนี้โดยอาศัยข้อความในหัวข้อ กิจวัตร 10 อย่าง ในหนังสือ “มนต์พิธี สำหรับพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนทั่วไป” โดย พระครูวินัยธรเอี่ยม สิริวณฺโณ วัดอรุณราชวราราม ที่มีใช้กันอย่างดกดื่น กว้างขวาง ว่า
“กิจวัตร 10 อย่าง
1) ลงอุโบสถ
2) บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
3) สวดมนต์ไหว้พระ
4) กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
5) รักษาผ้าครอง
6) อยู่ปริวาสกรรม
7) โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ
8) ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
9) เทศนาบัติ
10) พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4 เป็นต้น
กิจวัตร 10 เหล่านี้เป็นกิจใหญ่ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัดและจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน”1
ซึ่งตามพระวินัยจริงๆ แล้ว คำว่า “กิจวัตร” หมายถึง กิจที่พึงกระทำ หน้าที่ หรือธรรมเนียมความประพฤติ ข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น อุปัชฌายวัตร สัทธิวิหาริกวัตร อาคันตุกวัตร เป็นต้น2 ว่าพระภิกษุพึงปฏิบัติอย่างไรเป็นประจำ จึงไม่น่าจะหมายถึง “การอยู่ปริวาสกรรม” ซึ่งเป็นกิจที่ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น จะพึงต้องปฏิบัติเพื่อออกจากครุกาบัตินี้ด้วยวุฏฐานวิธีนี้ หาใช่เป็นกิจที่ภิกษุผู้ปกตัตตะจะพึงปฏิบัติด้วยไม่ แม้จะมีคำอธิบายว่า
“กิจวัตร 10 เหล่านี้ เป็นกิจใหญ่ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัด และจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน”
ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งดีพอแก่พระภิกษุผู้ยังมิได้ศึกษาพระวินัยมาดีแล้ว จึงมีพระภิกษุหลงชักจูงกันผิดๆ หลงเข้าใจผิด และปฏิบัติตามอย่างกันผิดๆ กันมากว่า “การอยู่ปริวาส เป็นกิจที่พระภิกษุ (ทั่วไป) พึงต้องปฏิบัติ” โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า ผู้ที่จะต้องอยู่ปริวาสกรรมนี้ คือพระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพื่อออกจากอาบัตินี้ด้วยวุฏฐานวิธี ตามพระวินัยพุทธบัญญัติเท่านั้น หาใช่เป็นกิจวัตรแก่พระภิกษุทั้งหลายทั่วไปผู้ปกตัตตะด้วยไม่ และหาใช่เป็นกิจวัตรของสามเณรและคฤหัสถ์ด้วยไม่ อันจะพลอยให้พระภิกษุผู้มิได้ศึกษาพระวินัยให้ดีนั้น ต้องอาบัติ “ปาจิตตีย์” เพราะพูดปด เมื่อกล่าวปฏิญาณตนต่อสงฆ์เพื่อขออยู่ปริวาสกรรม ว่าตนเองต้องอาบัตินี้ และยังเป็นสีลัพพตปรามาส คือการถือศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย ไม่เข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงตามพระวินัยพุทธบัญญัติ อีกด้วย
ซ. ส่วนการเมตตาสงเคราะห์ญาติโยมที่ไม่ค่อยจะมีโอกาสปฏิบัติธรรม ให้ได้มาร่วมปฏิบัติด้วย ในอาวาสเดียวกัน แม้แต่จะให้แยกกันอยู่ (พักผ่อนหลับนอน) คนละส่วน ก็จริง แต่ก็ไม่ได้แยกไกลกันออกไป คงอยู่ใกล้ๆ กันในบริเวณอาวาสเดียวกันนั้นเอง และมีการโฆษณากันอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งว่า มีการจัดพระภิกษุอยู่ปริวาสกรรมในอาวาสนี้ แก่อนุปสัมบัน ได้แก่ สามเณรและคฤหัสถ์ ให้ได้ยิน ได้รู้ ได้เห็น และยังจัดให้ปฏิบัติธรรมร่วมกันกับพระภิกษุ ผู้อยู่ปริวาสกรรมนั้นเองด้วย ก็เท่ากับเป็นการบอกอาบัติชั่วหยาบของเพื่อนพระภิกษุแก่อนุปสัมบันทราบตลอดเวลา เช่นนี้ พระภิกษุผู้จัด ผู้ร่วมจัด ผู้ทำการโฆษณา จะพ้นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะล่วงสิกขาบทที่ 9 แห่งมุสาวาทวรรคที่ 1 หรือ ?
การอนุเคราะห์ญาติโยมด้วยธรรมปฏิบัตินี้เป็นการดีเลิศ แต่ถ้าประสงค์อนุเคราะห์ญาติโยมจริง ก็น่าจะจัดการอยู่ปริวาสกรรมเฉพาะพระภิกษุแยกไปต่างหาก ให้ห่างไกลออกไปคนละส่วน จัดให้การมาอยู่ปฏิบัติธรรมของปกตัตตภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ย่อมจะเป็นเจตนากรรมที่บริสุทธิ์จริงแท้แก่ทุกฝ่าย จะมิดีกว่าหรือ ?
แม้จะอ้างว่า คำว่า “ปริวาส” ก็หมายถึงการอยู่ปฏิบัติธรรมด้วย ก็ไม่ตรงประเด็น เพราะในคำว่า “ปริวาสํ” ในเรื่องของการปฏิบัติวิปัสสนา เป็นคนละเรื่อง คนละความหมาย กับการอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุผู้ต้องครุกาบัติ ที่จะต้องออกจากอาบัติได้ด้วยวุฏฐานวิธี โดยสิ้นเชิง ดังมีปรากฏในอรรถกถาว่า
“โยปิ รูปารูปํ ปริคฺคเหตฺวา นามรูปํ ววตฺถเปนฺโต ทุกฺเขน กสิเรน กิลมนฺโต ววตฺถเปติ, ววตฺถปิเต จ นามรูเป วิปสฺสนาปริวาสํ วสนฺโต จิเรน มคฺคํ อุปฺปาเทตุ ํ สกฺโกติ, ตสฺสปิ ทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา นาม โหติ.”1
“ฝ่ายท่านผู้ใดกำหนดเอารูปและอรูปแล้ว เมี่อจะกำหนดนามและรูป ย่อมเป็นผู้เหน็ดเหนื่อย กำหนดเอาโดยยากโดยลำบาก และเมื่อกำหนดนามและรูปได้แล้ว เมื่อ อบรมบ่มวิปัสสนาอยู่ ย่อมอาจทำมรรคให้เกิดขึ้น ได้โดยเวลาเนิ่นนาน แม้สำหรับผู้นั้น ก็ย่อมชื่อว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า”
คำว่า “ปริวาสํ” ในกรณีนี้หมายถึง “การอบรมวิปัสสนาอยู่” ซึ่งเป็นคนละเรื่อง คนละความหมายกับการอยู่ปริวาสกรรม เพื่อออกจากครุกาบัติด้วยวุฏฐานวิธี จึงมิใช่เป็นเรื่องที่สมควรจะจัดการอบรมธรรมปฏิบัติให้แก่อนุปสัมบันอันมีสามเณรและคฤหัสถ์ ให้ปฏิบัติธรรมร่วมกับพระภิกษุผู้กำลังประพฤติวุฏฐานวิธี ในอาวาสเดียวกัน อันเป็นการแสดงอาบัติชั่วหยาบของเพื่อนภิกษุแก่อนุปสัมบันทั้งทางตรงและทางอ้อม อยู่ตลอดเวลาของการจัดปริวาสกรรมนั้น
การจัดให้ทั้งพระภิกษุ และอนุปสัมบัน ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม โดยทั่วไปตามปกติ เป็นการดี เป็นการสมควร น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง แต่ไม่ควรจัดให้มาปฏิบัติร่วมกันกับพระภิกษุผู้อยู่ปริวาสกรรม เพื่อมิให้เป็นอาบัติเพราะล่วงสิกขาบทที่ 9 แห่งมุสาวาทวรรค ที่ 1 นี้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเสี่ยงกับอาบัติเช่นนี้เป็นอาจิณ (ทุกวัน) ถึงจะเป็นอาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดง (เทสนาคามินี) ก็คงจะไม่ปลอดภัยจากอาทีนพคือโทษหรือผลฝ่ายชั่ว เพราะการแสดงอาบัติกับพระภิกษุหรือสงฆ์นั้น ต้องไม่ลืมว่า ผู้แสดงได้ปฏิญาณตนว่า
“สาธุ สุฏฺฐุ ภนฺเต (อาวุโส) สํวริสฺสามิ.
ทุติยมฺปิ... ตติยมฺปิ สาธุ สุฏฺฐุ ภนฺเต (อาวุโส) สํวริสฺสามิ. น ปุเนวํ กริสฺสามิ, น ปุเนวํ ภาสิสฺสามิ, น ปุเนวํ จินฺตยิสฺสามิ.”
“ดีละ ท่านผู้เจริญ (อาวุโส) กระผมจักสำรวมระวังให้ดี.
แม้ครั้งที่สอง... แม้ครั้งที่ 3 ดีละ ท่านผู้เจริญ (อาวุโส) กระผมจักสำรวมระวังให้ดี.
กระผมจะไม่ทำอย่างนี้อีก. กระผมไม่กล่าวอย่างนี้อีก. กระผมจะไม่คิดอย่างนี้อีก.”
เมื่อแสดงอาบัติแล้ว จะต้องสำรวมระวัง ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำอีก อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลานานพอสมควร การแสดง (ปลง) อาบัตินั้น จึงจะได้ผลเป็นความบริสุทธิ์จริง ไม่ใช่ปลงอาบัติอยู่ทุกวันแต่ก็ต้องอาบัติวัตถุเดียวกันเช่นนั้นอยู่อีกทุกวันๆ ไม่น่าจะได้เป็นความบริสุทธิ์จริง เพราะเป็นสักแต่ว่ากิริยาเปล่งวาจา ปลงหรือแสดงอาบัติ แต่หาได้ปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ที่แท้จริงๆ ไม่ กลายเป็นการแสดงความไม่จริงใจ และพอกพูนอาทีนพ (โทษ) ให้ติดอยู่ในกมลสันดานหนาแน่นยิ่งขึ้นไปอีก
เพราะฉะนั้น พระภิกษุพึงบริหารตนด้วยการสมาทาน การศึกษาและปฏิบัติศีลสิกขานี้ให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระสังฆาธิการ ผู้บริหารหมู่คณะสงฆ์และบริหารวัด จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธบริษัทโดยทั่วไป เพื่อช่วยกันสืบบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไป.
พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล*, การบริหารวัด, โรงพิมพ์ เอชทีพีเพรส, พ.ศ.2539, หน้า 44-50.
* ปัจจุบัน คือ พระราชญาณวิสิฐ วิ. (เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 ประธานศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย
- 40374 reads
ความคิดเห็น
อยากให้ข้อความเหล่านี้ กระจายไปยังชนหมุ่มาก เพื่อจะได้มีปัญญา ถ้าจะจัดการปฏิบัติธรรมก็บอกปฏิบัติธรรม เลย ไม่ต้องเอา ปริวาสกรรมมารวมกัน
ตามเจ้าของกีะทู้นะถูกแล้ว เห็นด้วย
อยากทราบครับว่าผมบวชแบบมีกำหนดนิดหน่อยผมมีเวลายุปริวาสสัก7วันได้ป่ะครับจะบริสุทธิ์ไหมครับ...แต่ก็ไม่น่าจะทำผิดสังฆาน่ะครับแต่ที่ไปอยู่เพื่อความสบายใจเผื่อเคยหลุดไรไปแบบลืมตัว...อ
เป็นความตอ้งการของพระ และ กรรมการวัดรว่มกันเพื่อบอกบุญแก่ญาติโยมให้มาบำเพ็ญ กุศลทำบุญกับพระอยู่กรรม และเป็นการส่งเสริมพุทธศาสนาให้ ประชาชนได้มีสว่นรว่ม
ได้อ่านกระทู้เรื่องปัญหาการจัดปริวาสกรรมที่ไม่ถูกต้องตามวินัยพุทธบัญญัติ จึงต้องแสดงความคิดเห็นเพื่อท่านที่อ่านกระทู้ได้ทำความเข้าใจอีกแง่มุมหนึ่งไม่ต้องเชื่อก็ได้ ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบก่อนว่าการนำเสนอความเห็นนี้ไม่ใช่เป็นการตอบโต้แสดงโวหารเอาแพ้ชนะซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้ต้องการพ้นทุกข์ถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้นใครถูกใครผิดใครแพ้ชนะล้วนแพ้ทั้งสองฝ่ายเพราะเห็นท่านเจ้าของกระทู้เป็นถึงท่านประธานประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมจังหวัดแห่งประเทศซึ่งมีตำแหน่งใหญ่และเป็นถึงชั้นราชฯเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดกายารามที่บรรยายเป็นวาทกรรมตามความคิดของท่านโดยการอ้างอิงธรรมวินัยบางส่วนจึงจำเป็นต้องเรียนชี้แจงผู้ที่อ่านกระทู้ของท่านจะได้แง่คิดอีกมุมหนึ่งตามความเป็นจริงจะได้ไม่เป็นบาปโดยการโพสต์สนับสนุนกระทู้เป็นการร่วมกันร้ายพระพุทธศาสนาโดยรู้เท่าไม่ถึงการทั้งๆที่รักศาสนาขอถือโอกาสชี้แจงท่านผู้อ่านตามกำลังสติปัญญา.........แต่คงไม่กล้าที่เรียนเจ้าของกระทู้.......เพราะเจตนาท่านที่เขียนไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์ผิดองค์ธรรมะกถึกคือต้องแสดงธรรมไม่กระทบต้องแสดงด้วยเมตตาซึ่งจะทำให้คนฟังเข้าใจผิด.......ขอเริ่มเรื่อง.............
ข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่เป็นพระหลวงตาอดีตเคยรับราชการต้องการบวชสัก๑๕วันพอถึง๑๕วันก็เลยคิดว่าต่ออีกสองเดือนครบสองเดือนเข้าพรรษาพอดีจะได้ลาสิกขาพอถึงเข้าพรรษาขอต่อเอาพรรษาออกพรรษาได้ไปงานปริวาสไปงานปริวาสได้ฟังธรรมจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์และเรียนรู้เรื่องวินัยประทับใจมากจึงออกจากป่านี้ไปป่านี้มีความเข้าและได้ปฏิบัติธรรมข้าพเจ้าพูดได้เต็มปากว่าเพราะงานปริวาสจึงมีวันนี้ข้าพเจ้าลาออกจากราชการตั้งแต่อายุ๔๐รับราชการ๒๒ปีรวมวันทวีคูณได้รับบำนาญทุกเดือนเป็นเงินบำรุงวัดทั้งหมดจนข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของงานปริวาสจึงขอพูดเรื่องผู้เข้าปริวาสและผู้จัดปริวาสมาปีนี้ปีที่๘แล้วจึงขอเรียนเรื่องที่ท่านเขียนมาในกระทู้
ขอทำความเข้าใจที่ในกระทู้บอกว่าชวนพระบวชใหม่มาอยู่ปริวาสก่อนจะลาสิกขาโดยไม่คำนึงถึงต้องสังฆาทิเสทหรือไม่
ขอตอบ..ท่านไม่เคยสังฆาทิเสทจึงไม่รู้ขั้นตอนของงานปริวาท ความจริงผู้จะมาอยู่ต้องลงทะเบียนพร้อมมอบใบสุทธิรับรู้กฎระเบียบของป่านั้นๆ พร้อมทั้งตอบคคำถามพระเจ้าหน้าที่ว่าอาบัติอะไรมาต้องหรือสงสัยปิดบังมาเท่าไรหรือเคยเข้ามาแล้วอาบัติซ้อนขึ้นมาในระหว่างปริวาสหรืออาบัติซ้อนมาในระหว่างประพฤติมานัตต์ พระเจ้าหน้าที่จะวินิจฉัยก่อนจะให้เข้าปริวาส หรือจะเข้าปฏิกัสนาปริวาสหรือปฏิกัสนามานัตต์ถ้าไม่ต้องอาบัติก็ไม่ต้องเข้าหรือวินิจฉัยถามเจตนายินดีหรือไม่เป็นต้น(ข้อความข้างต้นเป็นภาษาพระที่ศึกษาปริวาสจึงจะเข้าใจได้เพราะท่านอาจจะสงสัยไปถามผู้รู้ได้).........จึงไม่เป็นปตามที่เขียนไว้เป็นวาทกรรม......ที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิดได้ สิ่งจะต้องทำความเข้าใจทำไมพระใหม่จึงต้องเข้าปริวาสก่อนลาสิกขา....ต้องเป็นความโชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทยเพราะคนไทยมีความกตัญญูก็คือเมื่ออายุ๒๐ขึ้นไปลูกชายก็จะหาโอกาสบวชตอบบุญแทนคุณ พระพุทธเจ้าตรัสว่าความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี จากประสพการณ์จริงพระที่บวชเข้า๗วันบ้าง๑เดือนบ้างหรือ๑พรรษาบ้างเพราะพระอยู่ในวัยหนุ่มต้องสังฆาทิเสทเพราะสำนักข้าพเจ้าจัดอนุเคราะห์ให้นับว่ามากจริงๆโดยเฉพาะพระที่บวชกันเป็นหมื่นทั่วประเทศต้องอาบัติสังฆาทิเสทมากที่สุดเพราะอะไรท่านเจ้าของกระทู้น่าทราบดี คราวนี้สังฆาทิเสทแล้วเป็ไร...ถ้าลาสิกขาติดสังฆาทิเสทไป...ในพระไตรปิฎกมีตต้องเข้ามาบวชใหม่แล้วเข้าปริวาสแล้วจึงลาสิกขา คนโบราณสอนกันมาใครต้องอาบัติสังฆาทิเสทแล้วลาสิกขาไปจะเล่าร้อนมีเรื่องราวถ้ามีการแข่งขันแพ้ในวินาทีสุดท้ายตายก็ตกนรก คนสมัยก่อนเดี๋ยวนี้ด้วยถ้าใครไปขอลูกสาวเขาถ้าเขาทราบมาว่าเคยบวชแล้วเขาจะถามว่าเคยต้องอาบัติสังฆาทิเสทไหมถ้าตอบว่าเคยเขาไม่ยกลูกสาวให้ต้องไปบวชก่อนแล้วเข้าปริวาสอัพภานกรรมลาสิกขาเขาจึงให้ลูกสาวมีคนเข้ามาบวชใหม่แล้วเข้าปริวาสหลายคนหรือท่านจะปรับอาบัติหรือจะหาว่าสีลพตปรามาศเชื่องมงายก็ไม่เป็นไรหรือถ้าตายไปก็ลงอบาย ยังมีที่จะเรียนให้ทราบอีกเยอะอีกหน่อยกระทู้บอกว่าผู้ติดป้ายอยากให้มีผู้มาร่วมมากพูดเองท่านรู้หรือเขาคิดอย่างนั้นเพื่อคนจะมาทำบุญมากๆท่านพูดเองคิดเองทั้งหมด ท่านผู้อ่านโปรดพิจจารณาอย่าเพิ่งเชื่อไปค้นหาคามจริงได้ คนเขียนกระทู้เขาปรับอาบัติคนจัดงานหรือพูดธรรมะให้อนุสัมปันฟัง(ผู้ไม่ใช่พระ)ท่านพูดเองเขาก็ศึกษาพระวินัยเหมือนกันจงลองศึกษาธรรมของอสัตตบุรุษด้วยคืออะไร หมดเวลาพบกระท็โดยบังเอิญมีเวลามาต่อใหม่ตอนนี้อาจจะไม่สมบูรณ์แต่พอสรุปได้ว่าวาทกรรมของกระทู้ไม่จริงเป็นเท็จหมดพูดเอง พระไม่สังฆาทิเสทแล้วให้เข้าปริวาสเพราะเขามีวินิจฉัยก่อน แสดงอาบัติชั่วหยาบก็ไม่มีเพราะศึกพระวินัยเหมือนกันกับวัดธรรมกาย มีโอกาสมาต่อใหม่ยังตอบไม่หมดไม่ครอบคลุมขอเวลาพิมพ์ออกมาทั้งหมดตอบทีละคำถามแถมอีกนิดผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสทมี๑๓สิกขาบท๙สิกขาบทต้องเลย แม้แต่สร้างกุฏิไม่ให้สงฆ์แสดงที่ตั้งญัตติสุณาตุ เม............ก็สังฆาทิเสทเลยอีกสิกขาหนึ่งสร้างวิหารก็เหมือนกัน...พระอยู่ได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเพราะได้เข้าอยู่ปริวาสหลายรูปบอกกับข้าพเจ้าจริงๆ...........ขอให้ศึกษาให้ดีแล้วจึงแสดงความคิดเห็น,,อย่าทำลายศานาเสียเองต่ออีกนิดพระที่ต้องสังฆาทิเสทจะทำสมาธิถึงอัปนาสมาธิไม่ได้เลยพอก่อน.........ขออนุโมทนากับพระครูปลัดวันชัย อติภทฺโท วัดผมก็มีสถานีวิทยุครับออกอากาศเฉพาะธรรมะครับ ระอนุวัตร mind2496@thaimail.com ขออภัยถ้าสกดผิดพิมพ์ผิดเขียนไปเรื่อยๆไม่ได้ทวนผิดพลาดขออขมาอภัยอย่ามีเวรแก่กันและกันเลยจงเป็นสุขเถิด
ปัจจุบัน ได้เห็นนักปริวาสหลายที่
พยายามสร้างค่านิยมให้ญาติโยมรู้สึกว่าพระที่ออกจากปริวาส
เป็นดุจกับเหมือนพระที่ออกจากนิโรธสมาบัติ
คือมักใช้จุดขายที่ว่า "พระออกจากปริวาส ศีลจะบริสุทธิ์มาก ๆ"
จริง ๆ ส่วนตัวเห็นว่า
ถ้าอยากจะจัดเป็นปฏิบัติธรรม ก็ควรจะเป็นการปฏิบัติธรรมไปเลย
จัดปริวาสสัญจร จนสังฆกรรม เป็นเรื่องปาหี่ตลกกันไป
เป็นที่ให้พระจอมยุทธขายเครื่องราง ปลัดขิก พระเครื่อง ได้เป็นตลาดทำธุรกิจกันเสียแทน
จัดปฏิบัติธรรมให้เหมาะสมเลยก็ควรมากกว่า
จัดปริวาสก็ทำกันให้เป็นบุคคลเป็นเรื่อง ๆ ไปน่าจะเหมาะกว่า
ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ใช้วิจารณาญาณกันเอาเอง
ดูท่าจะไม่ค่อยได้มีการศึกษากันเท่าไหร่ รึว่าไปศึกษาแบบไม่ค่อยตรงร่องตรงรอยอะไรมา เขาชี้แจง และยกมาอธิบายอย่างชัดเจนดีแล้ว กลับยังไปปักหลักหลงในสิ่งไม่ตรงประเด็นอีก หว่านล้อมเฉโกไปทางอื่น พยายามจะยกขึ้นมาโต้แย้ง
เขากล่าวถึงผู้จัด ไม่ได้หมายถึงผู้ที่เป็นอาบัติ ซึ่งไปประกาศเชิญชวนพร่ำเพื่อ ใครเป็นอาบัติก็อยู่ไป เขาก็อนุเคราะห์ เป็นกิจที่ร่วมด้วยช่วยกัน แต่ผู้ที่จัด มันไม่ใช่กิจ มันนอกประเด็นกิจที่ควรทำไปน่ะครับ
ผู้ที่เป็นอาบัติ เขาเดือดร้อนใจ เขาก็อยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัติ พระปกตัตตะภิกขุก็อนุเคราะห์กัน เหมือนคนมีความผิดแล้วก็ไถ่โทษ แล้วก็อยู่แบบปกติ ไม่ใช่เชิญชวนโฆษณาจัดเป็นการงานอย่างใด บางครั้งไปหลอกลวงคนว่าเหมือนกับทำบุญกับพระออกจากนิโรธเข้าไปอีก ไปกันใหญ่เลย
นี่แหละที่ทำให้เสียศาสนาน่ะครับ
ไม่ได้ว่าท่านไม่ฉลาด หรือไม่รู้ แต่มันไม่ตรงน่ะครับ ให้มีผู้เป็นอาบัติจริงเถอะครับ แล้วผู้ทรงพระธรรมวินัยเขาก็จะสงเคราะห์กันเองครับ
เรียนมาก อ่านมาก บางทีก็ยึดติดกับความรู้มาก ก็เลยเอามาเป็นดาบ-อาวุธร้ายจู่โจมผู้อื่น โจมตีผู้อื่นที่ไม่เหมือนตน
ก็ดีเนอะ พระธรรมบางอย่างก็ถกเถียงกัน พระวินัยบางประการก็ถกเถียงกัน สรุปแล้วก็ช่วยกันบ่อนทำลายพระพุทธศานา
แทนที่จะส่งเสริมพระพุทธศาสนากลับเป็นการทำลายแทนเพราะคิดว่ารู้มากกว่าผู้อื่น ใช้คอมพิวเตอร์เป็น พิมพ์ดีดเป็น
ก็สอดแทรกเอาความรู้ในตำรานั้นมาเป็นอาวุธร้ายทำลายล้าง ไม่รู้ว่าจะได้บุญหรือจะเอาบาป
เพื่อจะให้ตัวผู้รู้ผู้ศึกษานั้นดูมีค่า มีราคามากกว่าคนอื่น เขียนเอง ตำหนิคนอื่นวัดอื่นให้ดูด้อยค่าด้อยราคา
ทั้ง ๆ ที่ผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน ในบ้านเมืองนี้ โดยเฉพาะท่านผู้รู้มาก ๆ ทางด้านพระพุทธศาสนานั้นท่านสงบสำรวม ไม่แม้แต่จะ
วิพากษณ์วิจารณ์ใคร เช่น พระมหาระแบบวัดบวร ท่านก็รู้มาก ชำนาญมากทางด้านพระวินัย ก็ยังไม่เคยเห็นท่าน
วิพากษณ์วิจารณ์ใครให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรืออย่างท่านปยุตโต ท่านก็สงบสำรวมท่านไม่วิพากษณ์วิจารณ์ใครเหมือนกัน
ท่านก็เก่งกว่าสมณบางท่านตั้งเยอะแยะในด้านความรู้ก็ท่าน ป.ธ.๙ แล้วน่ะนะ
ยุคนี้เป็นยุคที่สมณะมีแต่แข่งเด่น ไม่ค่อยแข่งดี ที่เค้าทำดีก็ถูกโจมดีทุกรูปแบบนั่นแหล่ะ เพราะเดี๋ยวจะเด่นกว่า อนิจังเนอะ
กระผมก็เห็นด้วยกับท่านพระครูปลัดวันชัย อติภทฺโท นะครับ เพราะแน่ใจได้อย่างไรว่าสมณะทุกรูปจะไม่ผิดสังฆาทิเสส
ข้อใดข้อหนึ่ง ก็มันมีตั้ง 13 ข้อนะครับ คนที่รู้น้อย ปัญญาทรามก็ทึกทักเอาแต่เฉพาะเรื่องต้น ๆ ข้อต้น ๆ เท่านั้น
ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ก็เป็นธรรมชาติของร่างกายทั้งนั้น แม้แต่การหลับฝันถ้าฝันแบบขาดสติก็ดีไป แต่ถ้ามีสติแล้วยินดีใน
นิมิตฝันนั้นมันก็ยุ่งอยู่เหมือนกัน เพื่อความผาสุขของใจก็ชำระมันให้หมดไปก็หมดเรื่องกัน ไม่เห็นจะเดือดร้อนใคร
ในเมื่อผู้จัดปริวาสกรรมก็ตั้งใจดีเพื่อสงเคราะห์หมู่คณะจรรโลงพระพุทธศาสนา ผู้อยู่ปริวาสและผู้ปฏิบัติธรรมก็เต็มใจ
ไปร่วมปฏิบัติธรรมก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนใคร ส่วนพระราชญาณวิสิฐ วิ.(เสริมชัย ชยมงฺคโล) ป.ธ.6 ก็ไปเรียนให้จบ
ป.ธ.๙ ก่อนแล้วค่อยวิพากษณ์วิจารณ์ใหม่ดีมั้ยครับ
ดังนั้น วัดไหน ภิกษุรูปไหนจะจัดอยู่ปริวาสกรรม ชักชวนให้คนไปอยู่ปฏิบัติธรรมก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหน ดีซะอีกที่
จะได้ส่งเสริมให้คนได้ตั้งใจไปปฏิบัติธรรม และคนที่ไปร่วมปฏิบัติธรรมก็ได้รับแต่ธรรมะขัดเกลาจิตใจ ผิดตรงไหน
วัดที่ท่านจัดปริวาสกรรม ก็ไม่ได้บังคับใครให้ต้องกินยาพิษล้างท้องซักหน่อย มีแต่จะได้ธรรมะกลับมาพิจารณา
ให้ได้สติ ให้ได้สัมปชัญญะ สำรวมระมัดระวังในพระธรรมพระวินัยมากขึ้น
วัดไหน เจ้าอาวาสไหนท่านทำดีก็ส่งเสริมท่านไปเถอะ ท่านจะได้มีกำลังใจ มิใช่เรียนมหามาแล้วก็นำความรู้
มาเข่นฆ่าผู้อื่นให้ลำบางด้วยมโนกรรมของเราเอง บางรูปบางท่านทำตัวเก่งกว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูซะอีก
เรื่องปริวาสกรรมนี้ พระพุทธองค์ก็ผู้เป็นบรมครูเป็นผู้บัญญัติสิกขาบทด้วยพระองค์เองด้วยซ้ำ แต่พุทธบุตรเอง
กลับนำมาถกเถียงโต้แย้งแข่งดีกันซะเอง แล้วจะฝากพระพุทธศาสนาไว้กับใครท่านคิดกันบ้างหรือไม่ การอยู่ปริวาส
ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว ตั้งแต่เดียรถีย์ที่นับถือลัทธิอื่น ๆ มาบวชในพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ก็ยังให้อยู่
ประพฤติปริวาสกรรมเพื่อดูความศรัทธาและความประพฤติว่านับถือพระพุทธศาสนาด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่
จึงให้ปริพาชก พระอัครสาวกนักบวชองค์สุดท้ายได้อยู่ปริวาส ๔ เดือน ท่านก็ยังยอมอยู่ตั้ง ๔ ปีแล้วท่านก็
บรรลุธรรมจักษุในคืนวันบวชนั้นเองก่อนพระพุทธองค์ปรินิพพาน ท่านเป็นพระอรหันต์ท่านก็ยังยอมอยู่ปริวาสกรรม
ก็ไม่เห็นพระอรหันต์องค์ไหนตำหนิติเตียนท่าน
พระราชญาณวิสิฐ วิ.(เสริมชัย ชยมงฺคโล)ป.ธ.6 ท่านก็คงต้องสำรวมระมัดระวังบ้างนะว่าหากท่านได้เป็นใหญ่
ในอนาคตแล้วต้องกินตำแหน่งที่มหาเถระของมหาเถระสมาคมแล้ว ท่านก็คงต้องเปลี่ยนความคิดของท่านใหม่
ว่าท่านจะเมตตา อนุเคราะห์ สงเคราะห์หมู่สงฆ์ให้ดำรงสมณธรรมยังไง เพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา
เป็นธรรมทายาทที่ดี ที่งดงามของพระพุทธองค์
แข่งดี ดีกว่าแข่งเด่น..มั้ยครับท่าน
พระเหมือนกันครับ
ในฐานะพุืทธบริษัท
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับพระมหาเสริมชัย ครับ
ปกติกิจกรรมของพระ คนทั่วไปไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือรายละเอียด และพร้อมเชื่ออย่างที่พระบอก ครับ
และถ้าพระสอนคนให้เชื่อผิดๆ คนก็จะเชื่อผิดๆ ตามได้ง่าย ซึ่งตรงนี้ผมก็คิดว่าเป็นการทำลายธรรมวินัยมากว่าการส่งเสริม นะครับ
ข้าพเจ้าคิดว่าการพัฒนาที่เน้นปริมาณที่มีมากแต่ขาดคุณภาพ ก็เหมือนน้ำทะเล ที่มีมากแต่หากไม่สามารถใช้ดื่มกินได้
อีกทั้งปริมาณที่มากนั้น เมื่อเป็นปัญหาก็จะเป็นปัญหาใหญ่ทำลายส่วนที่ดีๆได้ง่าย เหมือนน้ำทะเล 1 แก้ว จะต้องใ่ส่น้ำดีๆ ไปซักเท่าไหร่จึงจะเจือจางให้ดื่มกินได้
ปกติดอกไม้มีสีและกลิ่น เป็นเครื่องล่อแมลง กลิ่น-สี ศีล ธรรม ก็เป็นเครื่องล่อแมลงอย่างพวกข้าพเจ้า
ธรรมวินัยพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
สุดท้าย ข้าพเจ้าอยากเห็นสงฆ์มีความสามัคคี ในธรรมวินัย ตามรอยพระพุทธเจ้า
การอยู่ปริวาสกรรมปัจจุบันนิยมจัดกันมากและทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศ ถึอว่าเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ว่ามีในกิจวัตร ๑๐ อย่าง แม้ในกิจวัตร ๑๐ อย่างก็ควรต้องทำมิใช่หรือ จะว่าไปแล้ว เป็นการดีเสียอีกที่จะได้ส่งเสริมพระวินัยกรรมทำให้พระวินัยของพระพุทธเจ้ามั่นคงยิ่งขึ้น เป็นการบำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างดี เช่นการลดมานะ ละทิฏฐิตามพระวินัยที่เกี่ยวกับรัตติเฉทและวัตตเภท คงจะเป็นความเข้าใจของพระโบราณเห็นว่าอนาคต พระภิกษุจะมีกิเลศหนาปัญญาทรามมากขึ้น จึงรวบรวมเป็นกิจวัตร ๑๐ อย่างขึ้นมาก็ได้ และก็ควรปฏิบัติเพื่อความเจริญก้าวหน้าในศาสนามิใช่หรือ ซึ่งเรื่องปริวาสนี้พระภิกษุสายธรรมยุติไม่มีการอยู่ปริวาสเลย ท่านแน่ใจหรือว่าทุกรูปไม่เคยต้องอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ ข้ออย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจะมีกิจกรรมใดที่ชาวพุทธทั้งพระ ทั้งฆราวาสร่วมใจกันมาก มีโอกาสได้สร้างบุญบารมี ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมเป็นต้น ผู้เขียนชอบที่จะไปจัดปริวาส ตามต่างจังหวัดหลายจังหวัด ก็เห็นความเจริญเข้าไปในบ้านนั้นหมู่นั้นดีขึ้นอีกด้วย ทั้งตั้งใจว่าชีวิตนี้ต้องจัดปริวาสและบวชพระให้ได้ ๕๐๐๐๐ รูปก่อนจะตาย ก็คงไม่เป็นความเห็นที่ผิดกระมัง...
จาก พระครูปลัดวันชัย อติภทฺโท ผู้จัดรายการพระพบประชาชน สถานีตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดพิจิตรฯ
1...การจัดปริวาสกรรมของทุกวัด เรื่องของสังฆกรรมถูกต้องตามพุทธบัญญัติหุกอย่าง แต่ไม่ถูกต้องเป็นเรื่องที่เจ้าคูณพระราชญาณวิสิฐท่านกล่าว เพราะแต่ละวัดที่จัด จัดเพื่อสงเคราะห์พระก้มี จัดเพื่อต้องการเงินมาพัฒนาวัดก้มี วัดในต่างจังหวัดไม่ใช่ร่ำรวย มีรายได้มากมายที่จะนำมาใช่จ่ายในการพัฒนา การจัดปริวาสจึงทางหนึ่งที่จะหาเงินเข้าวัด แล้ว1ปีจัดได้ครั้งเดียว ลองคิดดูสิว่าการจัดแต่ละครั้งวัดต้องมีค่าใช้จ่าย จะเหลือเข้าวัดเท่าไร คงไม่ต้องบอกนะครับ ไม่มากเท่าไร ถ้าเทียบกับวัดในกรุงเทพ 1 เดือนยังมากกว่า วัดที่ต้องการเงินมาพัฒนาจึงต้องทำอย่างที่เจ้าคุณพระราชญาณวิสิฐท่านกล่าว สำหรับวัดที่จัดเพื่อสงเคราะห์ค่าใช้จ่ายก็ต้องมีเหมือนกัน แต่จะเน้นในเรื่องการทำบุญตักบาตและการปฎิบัติธรรมเพื่อสงเคราะห์คนในพื้นที่ เพราะในวัดต่างจังหวัดมีพระน้อย ปีหนึ่งจะมีพระมากๆมาให้ทำบุญสักครั้ง ก็งานปริวาสนี่ละครับ..
2...แต่ละวัดจะมีการจัดที่แตกต่างกันไป แบ่งเป็น 3 ประเภท 1.แบบสบายๆ มีกำหนดเวลาการปฏิบัติและพักผ่อนพอสมควร 2.แบบปานกลางจะเพื่มเวลาการปฏิบัติมากขึ้น
3.แบบเคร่งเวลาพักผ่อนจะน้อยเน้นการปฏิบัติ และรวมทั้งเน้นเรื่องข้อวัตรด้วย
3...มากล่าวถึงพระที่เข้าร่วมงานปริวาส มีทั้งต้องอาบัติและไม่ต้องอาบัติ เพราะอะไรจึงมีทั้ง 2 ประเภท 1.เพื่อออกจากอาบัติ 2.ประสบการณ์ 3.ปฏิบัติธรรม จะขอกล่าว ข้อ 2 กับ ข้อ3 สำหรับประสบการณ์คือ พื้นที่ นิสัยใจคอ ความเป็นอยู่ ศรัทธาในการทำบุญของคนในพื้นที่นั้นๆ และวัดที่จัดแต่ละแบบเป็นอย่างไร คือไปเข้าทั้ง 3 แบบ การปฏิบัติอาจจะบอกว่าอยู่ที่วัดก็ทำได้ ไม่เห็นต้องไปอยู่ปริวาสเลย ถ้าอยู่ที่วัด 1 วันมีเวลาปฏิบัติมากเท่าไร ทั้งธุระตนเอง และงาน ของวัดอีก แล้วเวลาตรงไหนไปปฏิบัติ ฉะนั้นพระที่เข้าปริวาสจึงเลือกวัดที่จะไปเข้าให้ถูกกับนิสัยตนเอง
***ตามที่กล่าวมาแล้ว หวังว่าคงจะเข้าใจในการจัดปริวาสของแต่ละวัดได้มากขึ้น จัดเพื่อจุดประสงค์อะไร และจุดประสงค์ของพระที่เข้าปริวาส นอกเหนือจากที่กล่าว มา3 ข้อ เป็นเวอร์ชั่นเสริม คงไม่ต้องบอกว่ามีอะไรบ้างอย่างที่รู้ๆ แต่ทุกวัดเหมือนกัน คือเน้นสังฆกรรม และข้อวัตรของการเข้าปริวาสต้องถูกต้อง ครับ *** 20 ธ.ค. 54
แสดงความคิดเห็น